8 ก.ย. 2554

ความหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และระบบเครือข่าย

เทคโนโลยีมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งผลให้เกิดความเป็นโลกาภิวัตน์ คือ ข้อมูล ความรู้ สามารถผ่านถึงกันได้อย่างไร้ขอบเขต เป็นความรู้ไม่มีพรมแดน ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันถือว่าเป็นยุคดิจิตอล (The Digital Age) หรือยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ยุคแห่งข้อมูล ยุคแห่งข่าวสาร (The Information Age) ดังนั้นข้อมูลข่าวสารต่างจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ใดที่มีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่าย่อมได้เปรียบผู้อื่น และการที่จะเข้าถึงข้อมูลได้เร็วย่อมต้องอาศัยเทคโนโลยี สารสนเทศ

1.1 ความหมายของข้อมูล สารสนเทศ
ข้อมูล (Data) และสารสนเทศ (Information) มีความหมายที่คล้ายคลึงและแตกต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์กัน ดังนี้
ข้อมูล หมายถึง ข้อมูลดิบหรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งถูกเก็บรวบรวมมาจากแหล่งต่าง ๆ ทำให้ทราบถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ข้อมูลอาจอยู่ในรูปตัวเลข ตัวอักษร ภาพ และเสียง
สารสนเทศ หมายถึง ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมมาผ่านกระบวนการประมวลผล วิเคราะห์ หลังสรุป จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
สารสนเทศที่มีคุณภาพย่อมมาจากข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ
1) มีความถูกต้องเชื่อถือได้
2.) ตรงตามความต้องการ
3) ทันต่อการใช้งาน
4) กะทัดรัด
5) ตรวจสอบได้

เครื่องมือที่นำมาใช้ในการประมวลผลสามารถจำแนกได้ 3 วิธี คือ
1) การประมวลผลด้วยมือ (Manual Data Processing) เป็นวิธีการแบบดั้งเดิมไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เหมาะสำหรับงานปริมาณไม่มาก ไม่เร่งด่วน เครื่องมือที่ใช้ประมวลผลด้วยมือ เช่น ลูกคิด เครื่องคิดเลข ปากกา ดินสอ เป็นต้น
2) การประมวลผลด้วยเครื่องจักรกล (Machanical Data Processing) เป็นวิธีการประมวลผลที่ใช้เครื่องจักรกลมาทำงานร่วมกับอุปกรณ์สำหรับประมวลผลด้วยมือ เช่น เครื่องทำบัญชี เป็นต้น
3) การประมวลผลด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Processing) เป็นวิธีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ ซึ่งเป็นวิธีการประมวลผลที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีลักษณะแบบออฟไลน์ (Off-Line) และแบบออนไลน์ (On-Line)
1.2 ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) หมายถึง การนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมมาช่วยในการรวบรวม ประมวลผล สรุป จัดเก็บ และเผยแพร่ สารสนเทศที่ได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตัวเลข ตัวอักษร ภาพ และเสียง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) สู่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies : ICT) ระยะแรกนิสิตจะคุ้นเคยกับ คำว่า IT คือการมีข้อมูลสารสนเทศ (Information) และมีเทคโนโลยี (Technology) ซึ่งหมายถึง คอมพิวเตอร์ที่มาแรงมากในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ระยะหลัง ICT มีบทบาทมาก กล่าวคือ ได้ใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารที่นอกจากจะรวมเอาอุปกรณ์คือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยทำการประมวลผลข้อมูล (Data) ให้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ เป็นสารสนเทศ (Information) ที่มี ความหมายในการบริหารจัดการแล้ว ยังใช้อุปกรณ์ทางการสื่อสาร (Communication) ช่วยเชื่อมโยงไปหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ไกล (Remote Area) โดยใช้โทรศัพท์ ดาวเทียม ไมโครเวฟ ทำให้การรับส่งและแลกเปลี่ยนเอกสารเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic) จึงสามารถติดต่อข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเอง Information and Communication Technology (ICT) มีความหมายถึง Information Technology (IT) และ Communication Technology (CT) (Mallard, 2002)
1) IT หมายถึง อุปกรณ์ (Hardware) และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) ซึ่งใช้เพื่อการเข้าถึง แก้ไข จัดเก็บ รวบรวม ควบคุม และนำเสนอสารสนเทศในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
(1) Hardware ได้แก่ Personal Computers, Scanners และ Digital Cameras เป็นต้น
(2) Software ได้แก่ Database Storage Programs และ Multimedia Programs เป็นต้น
2) CT หมายถึง อุปกรณ์โทรคมนาคม (Tele-communication Equipment) ใช้เพื่อประโยชน์ในการค้นหาและเข้าถึงสารสนเทศ ได้แก่ โทรศัพท์ โทรสาร โมเด็ม และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

1.3 ระบบเครือข่าย
การเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เพื่อประหยัดทรัพยากร ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล และสะดวกในการใช้งาน การเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เรียกว่า ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

เป้าหมายของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ คือ
1) มีการใช้ทรัพยากรทางฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ร่วมกัน
2) สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้สำหรับทุกคนที่อยู่ในระบบเครือข่าย
3) การติดต่อระหว่างผู้ใช้แต่ละคนมีความสะดวกสบายขึ้น

เครือข่ายสื่อสารของคอมพิวเตอร์อาจมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก อาจเป็นแบบส่วนบุคคลหรือสาธารณะ และอาจจะเป็นแบบไร้สารหรือใช้สายหรือใช้ทั้งสองแบบร่วมกัน ในทำนองเดียวกันเครือข่ายขนาดเล็กอาจจะมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายขนาดใหญ่

ปัจจุบันเรานิยมจัดประเภทของเครือข่ายตามขนาดทางภูมิศาสตร์ที่ระบบเครือข่ายนั้น ครอบคลุมอยู่ จำแนกได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ (รุจพร ชนาชัย และคณะ, 2546.)
1) เครือข่ายแลนหรือเครือข่ายบริเวณเฉพาะที่ (LAN หรือ Local Area Network) เป็นเครือข่ายที่นิยมใช้ภายในสำนักงานอาคารเดียวกันและองค์กรที่อยู่ในบริเวณเดียวกันหรือใกล้กัน เป็นเครือข่ายระยะใกล้ การเชื่อมต่อสามารถใช้สายเคเบิล สายโคแอกซ์ หรือสายเส้นใยแก้ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรและสามารถใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมกันได้ ตัวอย่างของเครือข่ายนี้ ได้แก่ เครือข่ายคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัย โรงเรียน และบริษัทหรือห้างร้านต่าง ๆ
2) เครือข่ายแมนหรือเครือข่ายบริเวณนครหลวง (MAN หรือ Metropolitan Area Network) เป็นเครือข่ายที่มีการเชื่อมต่อผู้ใช้ที่อยู่ในเขตเมืองเดียวกัน เป็นเครือข่ายขนาดกลางที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนของเมืองนั้นหรือเขตการปกครองนั้น เช่น เครือข่ายของรัฐต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา
3) เครือข่ายแวนหรือเครือข่ายบริเวณกว้าง (WAN หรือ Wide Area Network) เป็น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันระยะไกล ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ระหว่างประเทศ หรือทั่วโลก โดยอาศัยอุปกรณ์ดาวเทียม สายเส้นใยแก้วนำแสงหรือไมโครเวฟเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ระบบเครือข่ายประเภทนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต

1.4 อินเทอร์เน็ต
โลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารและยุคทางด่วนข้อมูลที่ก้าวหน้ามาก เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีบทบาทที่สำคัญในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ผู้ที่มีข้อมูลและสามารถหาข้อมูลได้ก่อน ผู้อื่นจะได้เปรียบในทุกด้าน การสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เชื่อมโยงกันทั่วโลกหรือที่เราเรียกว่าอินเทอร์เน็ต มีบทบาทที่สำคัญและ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตประจำวันของเราหลายด้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นิสิตจะได้ศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาและอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตได้

คำว่า อินเทอร์เน็ต มาจากคำเต็มว่า International Network หรือเขียนแบบย่อว่า Internet หมายความว่า เครือข่ายนานาชาติหรือเครือข่ายสากล คือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเข้าด้วยกัน โดยเป็นระบบเครือข่ายของเครือข่าย (Network of Networks) ในปัจจุบันมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันอยู่มากกว่า 60 ล้านเครื่อง มาเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข่าวสารกัน การที่คอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันหลายชนิดจำนวนมากมายทั่วโลก เชื่อมโยงกันได้ จะต้องใช้เกณฑ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อหรือโพรโทคอล (Protocol) เดียวกัน จึงจะ
เข้าใจกันได้ และเกณฑ์วิธีที่นำมาใช้กับการเชื่อมโยงต่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า ทีซีพี/ไอพี (TCP/IP)

อินเทอร์เน็ตถูกนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งในด้านสื่อสาร เช่น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล (Electronic Mail หรือ E-mail) การสนทนาผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือห้องคุย (Chat Room) ด้านแหล่งความรู้และความบันเทิง ด้านการซื้อขายสินค้าและบริการหรือเราเรียกว่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) นับวันอินเทอร์เน็ตจะยิ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น การที่มีระบบอินเทอร์เน็ตช่วยให้นิสิตสามารถเคลื่อนย้ายข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของโลก โดยไม่จำกัดระยะทางได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การส่งข้อมูลสามารถทำได้หลายรูปแบบคือภาพ เสียง ข้อความต่าง ๆ ระบบอินเทอร์เน็ตอาศัยเทคโนโลยี โทรคมนาคมเป็นตัวเชื่อมต่อเครือข่าย

ในประเทศไทยอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทุกสาขาวิชาชีพ มีสมาชิกใช้งานในระบบเชื่อมไปถึงสถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ตลอดถึงประชาชนทั่วไปด้วย นอกจากนี้ทางรัฐบาลได้ผลักดันให้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงไปถึงระดับองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เราเรียกว่า เครือข่ายอินเทอร์เน็ตตำบล ใช้ในการเผยแพร่ผลงานและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นเพื่อออกจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ตด้วย

การใช้อินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน สามารถสรุปที่สำคัญได้ดังนี้
1) ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สะดวก และรวดเร็ว
2) ใช้สืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลจ่าง ๆ ทั่วโลกได้
3) ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างระบบได้
4) สามารถส่งข้อมูลได้หลายรูปแบบ
5) ให้ความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การฟังเพลง เล่นเกม เป็นต้น
6. ใช้สื่อสารด้วยข้อความซึ่งเป็นการพูดคุยกันระหว่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยการพิมพ์ ข้อความโต้ตอบ
7) ใช้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
8) ซื้อขายสินค้าและบริการ

การต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านระบบการสื่อสารโทรคมนาคมเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้บริการต่าง ๆ จากอินเทอร์เน็ต นิสิตสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1) การต่อโดยใช้สายโทรศัพท์ผ่านอุปกรณ์โมเด็ม (MODEM) ไปยังไอเอสพีที่นิสิต เป็นสมาชิกอยู่ โมเด็มคืออุปกรณ์แปลงสัญญาณคอมพิวเตอร์ให้เป็นสัญญาณโทรศัพท์และแปลงสัญญาณโทรศัพท์ให้เป็นสัญญาณคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการแปลงสัญญาณ ดิจิทัลจากคอมพิวเตอร์เป็นสัญญาณแอนะล็อกผ่านสายโทรศัพท์ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ปลายทาง และขณะเดียวกันยังสามารถแปลงสัญญาณแอนะล็อกกลับเป็นสัญญาณดิจิทัลได้ โดยปกตินิสิตสามารถใช้วิธีนี้ติดต่อจากที่บ้านหรือที่ทำงานที่ไม่มีระบบเครือข่ายเชื่อมโยงถึง ความเร็วของการติดต่อขึ้นอยู่กับโมเด็ม
2) การต่อผ่านเครือข่ายแลน วิธีนี้จะสะดวกมากกว่าวิธีอื่น การรับส่งข้อมูลมีความเร็วสูง นิยมใช้ในหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่ เช่น มหาวิทยาลัย กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ใช้งานได้พร้อมกันครั้งละหลาย ๆ คน โดยหน่วยงานเหล่านั้นจะต้องมีการเชื่อมอินเทอร์เน็ตผ่านสายสัญญาณใยแก้วนำแสงหรือสายวงจรเช่า (Leased Line) กับไอเอสพี

การให้บริการอินเทอร์เน็ตมีหลายรูปแบบและมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา สามารถสรุปที่มีการใช้ประโยชน์มากที่สุด ดังต่อไปนี้
1) การให้บริการเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web หรือ www) เป็นบริการระบบข่าวสารที่มีข้อมูลอยู่ทุกแห่งในโลก ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นสามารถอยู่ในหลายรูปแบบแตกต่างกัน เช่น เอกสาร รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สามารถสืบค้นได้ง่าย
2) การให้บริการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail หรือ E-mail) เป็นบริการรับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล ซึ่งจดหมายเหล่านี้จะถูกส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปถึงผู้รับ ไม่ว่าอยู่ที่ใดในโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที จดหมายที่ส่งจะเป็นข้อมูล เอกสาร รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง
3) การแลกเปลี่ยนข่าวสารแบบกลุ่ม (Usenet Newsgroup) เป็นบริการที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้สนใจในเรื่องเดียวกัน สามารถอภิปรายโต้ตอบกันได้ มีการจัดหัวข้อให้แสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มผู้สนใจด้าน สิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้สนใจด้านคอมพิวเตอร์ กลุ่มผู้สนใจด้านการเมือง และอื่น ๆ ทุกคนจากทั่วโลกสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง
4) การซื้อขายสินค้าและบริการ (Electronic Commerce หรือ E-Commerce) เป็นบริการที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต เป็นธุรกิจที่นิยมมากในปัจจุบัน สามารถให้การบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถสืบค้นหาของที่ตนต้องการซื้อ ตรวจสอบราคา รวมถึงรายละเอียดและการสั่งซื้อได้โดยตรงจากที่บ้านหรือสำนักงาน
5) การบริการการโอนถ่ายข้อมูล (File Transfer Protocol หรือ FTP) เป็นบริการโอนถ่ายข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ทั่วโลก นำลงมาเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์ของนิสิตนักศึกษา ทำให้สามารถนำข้อมูลหรือโปรแกรมที่ต้องการจากเครือข่ายมาใช้งานได้
6) การสื่อสารโต้ตอบด้วยข้อความ (Internet Relay Chat หรือ IRC) เป็นบริการที่ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในส่วนต่างของโลก สามารถติดต่อพูดคุย โต้ตอบด้วยข้อความผ่านระบบอินเทอร์เน็ต นิสิตนักศึกษาสามารถพิมพ์ข้อความโต้ตอบระหว่างบุคคล 2 คน หรือเป็นกลุ่มบุคคลพร้อมกันก็ได้ เป็นการโต้ตอบในเวลาเดียวกันขณะนั่งทำงานที่เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในกลุ่มวัยรุ่น โปรแกรมที่ใช้ที่นิยมกันมากในขณะนี้ ได้แก่ โปรแกรมไอซีคิว (ICQ)

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web หรือ www) เป็นบริการหนึ่งของอินเทอร์เน็ต ใช้ในการให้บริการข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ได้ โดยมีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการข้อมูล เราจะเรียกว่าเครื่องบริการเว็บ (Web Server) เพื่อให้บริการข้อมูลแก่ ผู้ต้องการ รูปแบบของข้อมูลจะถูกนำเสนอผ่านโปรแกรมค้นดู ที่เรียกว่า เบราว์เซอร์ (Browser) หรือเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) แสดงเป็นหน้ากระดาษอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า เว็บเพจ (Web Page) ข้อมูลที่อยู่ในเว็บเพจสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นด้วยวิธีเชื่อมโยงหลายมิติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น